Home Knowledge ระบบนิเวศเขตเมือง โลกอีกใบแค่ปลายจมูก (Urban Ecology)

ระบบนิเวศเขตเมือง โลกอีกใบแค่ปลายจมูก (Urban Ecology)

ระบบนิเวศเขตเมือง โลกอีกใบแค่ปลายจมูก (Urban Ecology)

ระบบนิเวศ (Ecosystem) หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฏจักร หรือให้พูดง่ายๆ ก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งมีชีวิต กับ สิ่งแวดล้อม ซึ่งในวันนี้เราจะมาพูดถึง ระบบนิเวศเขตเมือง (Urban Ecology) ระบบนิเวศเขตเมืองเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่าง ธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น

สรรพชีวิตในโลกล้วนพึ่งพาอาศัยกัน อีกทั้งสายสัมพันธ์ในห่วงโซ่ชีวิตก็ซับซ้อนน่าพิศวง แม้ว่าชีวิตในเมืองใหญ่อาจเป็นแดนทรหดสำหรับมนุษย์หลายคน แต่บางครั้งอาจเป็นสรวงสวรรค์สำหรับพืชพรรณและส่ำสัตว์บางชนิด นักนิเวศวิทยาเชื่อว่า “การปรับตัว” คือกลยุทธ์การอยู่รอดอันเก่าแก่ เมื่อสิ่งมีชีวิตบางชนิดสามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ดี (ทำนองกินง่ายอยู่ง่าย) และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากธรรมชาติดั้งเดิม พวกมันไม่เพียงดำรงชีพได้ดี แต่ยังสามารถสืบทอดวงศ์วานจนยึดครองถิ่นอาศัยนั้นๆ เช่น นกพิราบที่ยึดครองน่านฟ้าและบาทวิถี นกกระจิบที่อาศัยหลืบอาคารในเมืองเป็นแหล่งทำรัง สัตว์เหล่านี้ล้วนปรับตัวเก่งอีกทั้งยังมีนิสัยกินง่ายอยู่ง่าย ทำให้เอื้อต่อการดำรงชีพขยายพันธุ์ในปัจจุบัน ทว่าเรื่องราวกลับแตกต่างออกไปสำหรับ แร้ง ในอดีตนกชนิดนี้เคยมีอยู่มากในเขตกรุงเทพฯ และทุ่งโล่งโดยรอบ การสาธารณสุขที่ดีขึ้นได้พรากพวกมันจนอันตรธานไปจากหลืบเมฆ เมื่อแหล่งอาหารอันได้แก่ซากศพเน่าเปื่อย ไม่มีให้พบเห็นอีกต่อไป “ถ้าสิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ พวกมันจะอยู่รอดต่อไป ส่วนพวกที่ปรับตัวไม่ได้จะค่อยๆ หมดไปครับวัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าว

Heat Island Effect
Heat Island Effect

กิจกรรมของมนุษย์ในเขตเมืองยังส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ถนนลาดยางมะตอยและอาคารคอนกรีตเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect) ซึ่งสะสมความร้อนในช่วงกลางวันและเก็บไว้จนอุณหภูมิสูงขึ้นในยามค่ำคืน อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ส่งผลดีต่อยุงที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว นี่อาจเป็นคำตอบว่า เพราะเหตุใดภาวะโลกร้อนจึงส่งผลให้ โรคมรณะ หลายชนิดที่มียุงเป็นพาหะพบบ่อยขึ้น ขณะที่แสงไฟในยามค่ำคืนของเราทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดต้องปรับตัวโดยฉวยโอกาสเพื่อประโยชน์แก่เผ่าพันธุ์ เช่น นกเค้าหลายชนิดที่เฝ้ารอจับแมลงตามโคมไฟ หรือนกอีแพรดที่เปลี่ยนพฤติกรรมจากการหากินกลางวันมา “ทำโอที และ เลิกงานดึกขึ้น” เป็นต้น ทว่าในบางกรณี ระบบนิเวศเขตเมืองเหล่านี้ก็อาจคุกคามและสร้างความรำคาญให้แก่เรา ในค่ำคืนหนึ่ง แถวตลาดสดย่านนนทบุรี ชายชุดขาวคนหนึ่งเดินฝ่าความมืดพร้อมถังสแตนเลสสีเงินแวววาว ในถังนั้นบรรจุของเหลวสรรพคุณร้ายกาจ “ยานี้จะทำให้พวกมันเป็นอัมพาตชั่วคราวครับ พวกมันจะตกใจแล้วก็ปีนขึ้นมานอนหงายท้อง จากนั้นรมควันยาอีกรอบ ก็เรียบร้อย” เขาบอกระหว่างฉีดพ่นของเหลวนั้นลงตามหลืบท่อระบายน้ำ ไม่นานนัก หนวดเล็กเรียวของแมลงสาบอเมริกันตัวใหญ่ก็กวัดแกว่งขึ้นมา พวกมันดิ้นพล่าน แล้วกรูออกมากราวกับผึ้งแตกรัง

Ecosystem (รูปภาพจาก มูลนิธิไทยรักษ์ป่า)

ทว่าเราจะชนะสงครามกับเหล่าแมลงได้จริงหรือ? ความทนทานต่อสารเคมีของแมลงสาบนั้นเป็นที่เลื่องลือ แมลงสาบอเมริกันตัวใหญ่ โผงผาง จึงมักพลาดท่าเสียที แต่แมลงสาบเยอรมันตัวเล็กจ้อย และแอบซ่อนอยู่ตามซอกหลืบ ขณะที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์อีกชนิดกรูกันออกไปจนพบจุดจบ ความสามารถในการดื้อยานับเป็นกระบวนการปรับตัวที่น่ายกย่อง แมลงใช้ข้อได้เปรียบด้านวงจรชีวิตที่สั้น และจำนวนประชากรที่มีมากมายเหลือคณนา วิวัฒน์ร่างกายจนต้านทานยาฆ่าแมลงได้อย่างวิเศษ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักเคมีจึงมีงานให้ทำกันไม่หยุด

กระนั้น แมลงบางชนิดกลับเลือกที่จะบอบบางและก้าวไปไกลกว่านั้น พวกมันใช้ข้อได้เปรียบด้านจำนวนเป็นต้นทุนการอยู่รอดของชีวิต ประจักษ์พยานในสนามหลังบ้านของเราคือประชากรมดและปลวกจำนวนมหาศาล นางพญาผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการคลอดได้รับการปกป้องและปรนเปรอจากเหล่าทหารและบริวาร นักชีววิทยาพบว่าการดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยวิธีนี้ช่วยให้เหล่าแมลงครองโลกมายาวนาน และไม่ยี่หระต่อการคุกคามของมนุษย์ “แมลงพวกนี้ขยายพันธุ์เร็วและเก่งมากครับ อย่างน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมต่อให้น้ำท่วมอีกหลายเดือน พนันกับผมได้เลยว่า พอน้ำลง เดี๋ยวมดก็กลับมาเพียบเหมือนเดิมดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านมด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

KU Ecosystem

การขยายตัวของเมืองส่งผลต่อการขยายถิ่นหากินของสัตว์บางชนิดเช่นกัน องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ.2030 ประชากรโลกร้อยละ 60 จะอาศัยในเขตเมือง ขณะที่พื้นที่ป่าหดหายลงทุกวัน แม้ส่ำสัตว์ในพงไพรอาจขวัญผวากับกระแสการพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชีย แต่ผู้ที่ปรับตัวได้ก่อนก็จะยึดครองและอยู่รอดต่อไป ย้อนหลังไปเพียงสิบกว่าปีก่อน บรรดานักดูนกพากันตื่นเต้นกับฝูงนกกระจอกใหญ่ นกจับคอนหาดูยากที่มีต้นกำเนิดไกลถึงแถบเมดิเตอร์เรเนียน หลายปีต่อมา มีรายงานพบนกกระจอกใหญ่เริ่มเดินทางลงใต้ โดยพบพวกมันทำรังในกรุงเทพฯ และขยายไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์และชุมพร ลักษณะทางธรรมชาติวิทยาของมันต้องอาศัยพื้นที่โล่งสำหรับการหากิน การขยายตัวของเมืองกลายเป็นสะพานสำหรับการเดินทางลงสู่เขตที่อบอุ่นกว่า พวกมันเดินทางไม่ไกลนักจึงพบลานโล่ง หยุดพักกินอาหาร ก่อนผจญภัยต่อด้วยปีกเล็กทว่าทรหด

การขยายตัวของเมืองชักนำการผลิตอาหารและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาเยือน ผลพวงจากปุ๋ยและสารเคมีเกษตรฯ อาจส่งผลดีต่อผักตบชวา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (invasive species) ผู้ยืนยงก็จริง แต่บรรดาแพลงก์ตอนพืชในน้ำทะเลกลับปฏิเสธสารเคมีด้วยการสร้างปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ราวกับประท้วงสิ่งแปลกปลอมจากการกระทำของมนุษย์ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมปากอ่าวไทย ก็เป็นต้นตอสำคัญของโลหะหนักที่เจือปนตามเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตหน้าดิน นักวิจัยพบว่า นอกจากจะตกค้างตามหน้าดินบริเวณอ่าวไทยแล้ว กระแสน้ำและลมมรสุมยังพัดพาแคดเมียม ตะกั่ว และสังกะสี ไปสะสมอยู่บริเวณดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม และดินเลนชายทะเล จังหวัดเพชรบุรี ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวการ

Ecosystem Service (รูปภาพจาก Green Style)

อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบนิเวศเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดของสิ่งแวดล้อม นับเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจ เช่น การใช้ไลเคนสำหรับชี้วัดมลภาวะทางอากาศ หรือการใช้หิ่งห้อยเพื่อเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดแหล่งน้ำ เช่นเดียวกับ “บริการทางระบบนิเวศ” (Ecosystem Service) หลายชนิด ที่มีประโยชน์กับวิถีชีวิตมนุษย์ในเมืองใหญ่ อาทิ การปลูกต้นไม้ผสมผสานหลายชนิดสามารถกรองมลพิษทางอากาศได้ดีกว่าการปลูกต้นไม้ชนิดเดียว การกักเก็บน้ำฝนโดยพื้นที่สีเขียวอ่อนนุ่มช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน และเป็นพื้นที่รับน้ำในยามเกิดอุทกภัย

ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งเป็นนโยบายของกรุงเทพฯ และอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่เพียงเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้เกื้อกูลกับธรรมชาติ “ความสุขของคนเราไม่ได้อยู่ที่ความสะดวกสบายในชีวิตอย่างเดียวครับ” ผมคิดว่าธรรมชาติในเมืองเป็นอีกทางที่ช่วยเสริมให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น ความสัมพันธ์ของเมืองและธรรมชาติ เราคงปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราควรวางแผนหรือคิดสักนิดก่อนดีไหมครับว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ทุกอย่างสมดุลกัน วัชระ นักดูนก ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

Exit mobile version