37.1 C
Bangkok
วันเสาร์ 27 เมษายน 2024

ชนิดและประเภทการสัมภาษณ์ ที่เราควรรู้ก่อนสัมภาษณ์งาน

One
Onehttp://www.bkkparttime.com/
เว็บรวมงานพาร์ทไทม์ ฟลูไทม์ จากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ

ในบทที่แล้วเราได้พูดถึงเทคนิคการสมัครงาน และสัมภาษณ์งานกันไปแล้ว ในบทนี้เราจะมาพูดถึงรูปแบบการสัมภาษณ์งานกันค่ะ การสัมภาษณ์งานนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งผู้สมัครงานจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่ารูปแบบการสัมภาษณ์นั้นมีแบบไหนบ้าง? เพื่อที่จะได้เตรียมตัวล่วงหน้าได้ ซึ่งเราจะแบ่งรูปแบบการสัมภาษณ์ได้เป็น 6 แบบ ดังนี้

ชนิดและประเภทการสัมภาษณ์

1. การสัมภาษณ์งานแบบบุคคลต่อบุคคล (Individual Interview)
การสัมภาษณ์งานแบบบุคคลต่อบุคคลเป็นชนิดที่ใช้กันทั่วไปสำหรับหน่วยงานหรือบริษัทที่ต้องการคัดเลือกพนักงานในระดับทั่วๆ ไป ซึ่งการสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ “ผู้สัมภาษณ์” จะติดต่อนัดหมายให้ “ผู้สมัคร” ไปทำการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวในตำแหน่งงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญนักที่ “ผู้สัมภาษณ์” สามารถพิจารณาและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครทราบว่าตนจะต้องถูกสัมภาษณ์แบบบุคคลต่อบุคคลแล้ว ท่านก็จำเป็นจะต้องเตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้าตามคำแนะนำที่จะให้ไว้ในบทต่อไปเช่นเดียวกันเพราะเมื่อใดที่ท่านต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว เมื่อนั้นท่านจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับเขาให้มากที่สุด

2. การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ (Phone Interview)
การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสอบถามธรรมดา เพื่อต้องการทราบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทำการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เพียงพอออกไป การสัมภาษณ์ชนิดนี้บางครั้งก็เรียก “Screening Interview” ซึ่งหมายถึงการกลั่นกรองเอาผู้ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ นัดไปสอบสัมภาษณ์แบบใดแบบหนึ่งที่หน่วยงานหรือที่บริษัทต่อไป ขอให้เข้าใจว่าการสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์จะดูเป็นสิ่งง่ายๆ ที่สามารถกระทำได้ทุกเวลาก็ตามแต่สำหรับผู้สมัครงานแล้วถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ได้ ทั้งนี้ เพราะหากท่านล้มเหลวในขั้นตอนแรกของการสัมภาษณ์งานนี้แล้ว โอกาสที่ท่านจะได้งานนั้นก็หมดไปทันทีโดยปริยาย

3. การสัมภาษณ์งานแบบใช้คณะผู้เชี่ยวชาญ (Panel or Board Interview)
การสัมภาษณ์งานชนิดนี้ “ผู้สัมภาษณ์” จะเป็น “กลุ่มบุคคล” ที่ได้รับการแต่งตั้งหรือได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะโดยปรกติการสัมภาษณ์ชนิดที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ มักจะเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ เท่านั้น และเหตุผลที่ต้องใช้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็เพราะต้องการให้เป็นการเลือกเฟ้นที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นหากท่านทราบว่าจะต้องรับการสัมภาษณ์ด้วยวิธีนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องเตรียมตัวและวางแนวทางการตอบคำถามให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจะต้องเข้าใจว่าการสัมภาษณ์งานแบบใช้กลุ่มคณะผู้เชี่ยวชาญนี้ ยังแบ่งออกเป็นแบบย่อยอีกสองแบบด้วยกันคือ:

  • การสัมภาษณ์งานแบบอิสระ (Free Interview)
    การสัมภาษณ์งานชนิดนี้ กลุ่มคณะ ผู้สัมภาษณ์แต่ละคนสามารถถามผู้สมัครได้ตามความต้องการ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า ทางหน่วยงานหรือบริษัทให้อิสระในการตั้งคำถามแก่คณะผู้สัมภาษณ์เต็มที่ ดังนั้น สำหรับทางด้านผู้สมัครแล้ว การสัมภาษณ์ชนิดนี้นับว่ายากกว่าการสัมภาษณ์ชนิดอื่นๆ มากที่สุด เพราะเป็นการยากมากที่ผู้สมัครจะคาดหวังได้หมดว่าตนเองจะต้องตอบคำถามในเรื่องใดบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครรู้ตนเองจะถูกสัมภาษณ์ในลักษณะนี้ ก็คงเตรียมรับมือด้วยสมาธิมั่นคง ไม่หวั่นไหวตามบุคลิกภาพของคณะผู้สัมภาษณ์แต่ละคนเป็นอันขาด
  • การสัมภาษณ์แบบจัดรูปแบบคำถามที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน (Structured Interview)
    การสัมภาษณ์ในลักษณะนี้ คณะผู้สัมภาษณ์แต่ละคนจะต้องตั้งคำถามให้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กับคำถามของผู้อื่นหรือไม่ ก็อาจมอบหน้าที่ให้ผู้สัมภาษณ์แต่ละคนทำการสัมภาษณ์ในแต่ละด้านของข้อกำหนดในคุณสมบัติของผู้สมัคร อย่างเช่นประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา การศึกษา กิจกรรมพิเศษ ฯลฯ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์งานในแบบนี้จะทำให้ผู้สมัครไม่ต้องพะวงอยู่กับบุคลิกภาพของผู้สัมภาษณ์มากนัก ทั้งนี้ เพราะคำถามของแต่ละคนต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

4. การสัมภาษณ์แบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (Situational Interview)
การสัมภาษณ์ชนิดนี้เป็นการทดสอบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้สมัคร ผู้สัมภาษณ์จะตั้งปัญหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ปฏิบัติงานจริงๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทดสอบว่า ผู้สมัครมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหน จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์ชนิดนี้จะมีประโยชน์ต่อบริษัทหรือหน่วยงานมาก เพราะการรับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่ขาดไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะสร้างความยุ่งยากหรือความเสียหายให้กับบริษัทได้

5. การสัมภาษณ์งานแบบประเมินผลงานสำคัญ (Assessment Centers Interview)
การสัมภาษณ์งานชนิดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการสัมภาษณ์งานแบบต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือผู้สัมภาษณ์จะมอบหมายให้ผู้สมัครทดลองปฏิบัติงานหรือสาธิตการทำงานของตนต่อหน้าผู้สัมภาษณ์ อย่างเช่น การสาธิตการขาย สาธิตการควบคุมเครื่องจักรเครื่องยนต์ ฯลฯ ซึ่งผู้สัมภาษณ์จะใช้วิธีประเมินผลจาการสาธิตนั้นๆ จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์ชนิดนี้จะให้ผลตามความเป็นจริงแก่หน่วยงานมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะผู้สมัครจำเป่นจะต้องรอบรู้และมีประสบการณ์ในงานที่กำลังสมัครในระดับที่เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงจะผ่านการคัดเลือกเข้าไปได้ ทำให้ทางบริษัทหรือหน่วยงานขาดความเสี่ยงต่อการต้อนรับพนักงานที่ขาดประสบการณ์ไปได้

6. การสัมภาษณ์งานโดยตัวแทนหางาน (Employment Agency)
การสัมภาษณ์งานชนิดนี้ ทางบริษัทหรือหน่วยงานมอบให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนจัดหางานทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการสัมภาษณ์งานอื่นๆทั้งหมดจะเห็นว่าง่ายต่อผู้สมัครมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะตัวแทนจัดหางานไม่จำเป็นต้องซักถามอะไรมากนักนอกจากคุณสมบัติตามที่ทางหน่วยงานกำหนด เอาไว้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการสัมภาษณ์งานชนิดนี้จะนำไปใช้เฉพาะการสมัครงานในตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญเท่านั้น ซึ่งคุณภาพของผู้สมัครอาจมีผลต่อการทำงานไม่มากนัก

More articles

- Advertisement -

Latest article