32.9 C
Thailand
วันจันทร์ 16 กันยายน 2024

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน วิธีการดูแลและรักษา (Meniere’s Disease)

Recommend

One
Onehttp://www.bkkparttime.com/
เว็บรวมงานพาร์ทไทม์ ฟลูไทม์ จากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เป็นหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นกับช่องหูที่ไม่ค่อยพบบ่อยนักในคนไทย แต่ก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหูตลอดเวลา ดูๆ แล้วอาจเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่… อาการที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และการดำเนินชีวิตประจำวัน โรคนี้เกิดจากการที่มีน้ำคั่งบริเวณหูชั้นในมากกว่าปกติ โดยหูชั้นในจะทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว และการได้ยิน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมักมีปัญหาเรื่องการทรงตัว และการได้ยิน

สาเหตุ : เกิดจากการไหลเวียนถ่ายเทของน้ำในหูผิดปกติ เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ค่อยดี ทำให้มีน้ำเก็บอยู่ในบริเวณหูชั้นในมากกว่าปกติ (Endolymphatic Hydrops) ส่งผลให้เซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยินทำงานผิดปกติ

หูชั้นใน
หูชั้นใน

หูของคนเราเป็นอย่างไร? หูชั้นในแบ่งออกตามหน้าที่ได้ 2 ส่วน ส่วนแรกทำหน้าที่รับเสียง จะมีลักษณะคล้ายก้นหอย และ ส่วนที่สองทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว ตรงนี้จะมีอยู่ 3 ชิ้น โดยมีรูปร่างคล้ายเกือกม้า แต่ถ้าแบ่งตามการทำงานแล้วจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนกระดูก จะทำหน้าที่ห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน และ เยื่อหุ้มภายใน โดยจะมีของเหลวอยู่ในเยื่อหุ้ม เมื่อเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะเกิดแรงดันของน้ำในหูผิดปกติ ทำให้ปริมาณของเหลวภายในเยื่อหุ้มเพิ่มมากขึ้น เกิดการคั่งและไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดแรงดันในหูชั้นใน ซึ่งจะขัดขวางการทำงานของประสาท ส่งผลต่อการได้ยิน และการทรงตัว ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน หูอื้อ และได้ยินเสียงอื้อในหู

สาเหตุของโรค?
เรายังไม่พบว่ามีสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจจะเกิดจากความเครียด นอนน้อย สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาคารเค็ม การที่ขี่มอเตอร์ไซค์ หรืออยู่ในที่เสียงดังมากๆ เป็นเวลานาน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นแค่ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เท่านั้น

เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน
เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน

อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน มักจะเป็นอยู่ช่วงประมาณ 20 นาทีจนถึง 3 ชั่วโมง โดยจะเป็นๆ หายๆ หรือบางครั้งหลังเวียนศีรษะก็จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเหงื่อออกร่วมด้วย
หูอื้อ อาจเป็นในบางครั้งในช่วงแรกๆ และอาจมีภาวะการได้ยินลดลง อาการหูอื้อมักเกิดพร้อมกับการปวดศีรษะ แต่เมื่อหายปวดศีรษะแล้วการได้ยินก็จะกลับมาเป็นปกติ ถ้ามีอาการบ่อยๆ หรือปวดหัวบ่อยๆ แล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการจะรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นหูอื้อถาวร

รักษาอย่างไร? การรักษาโรคนี้จะเริ่มจากการรักษาตามอาการ ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคด้วย
การให้ยาบรรเทาอาการ
• การรับประทานยาขับปัสสาวะ อาจจะทำให้น้ำคั่งในหูชั้นในน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นหลังได้รับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
• การรับประทานยาขยายหลอดเลือด (ฮิสตะมีน) จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น

การผ่าตัดเพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน
• การผ่าตัดนั้นจะทำเมื่อให้ยารักษาเต็มที่แล้วอาการของโรคโดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะไม่ดีขึ้น และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมาก
• การทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยิน และการทรงตัวในหูชั้นใน (labyrinthectomy) จะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นด้วย มักจะทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะมากอยู่
• การตัดเส้นประสาท ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน (vestibular neurectomy) มักจะทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่
• การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหู และการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน เช่น gentamycin ซึ่งเป็นยาต้านจุลชีพกลุ่ม aminoglycoside เพื่อทำลายระบบประสาททรงตัว ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยินอาจเสียไปด้วย

การป้องกันและดูแลตนเองเบื้องต้น
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
• ลดความเครียด ทำงานให้เป็นเวลา
• พักผ่อนให้เพียงพอ และเป็นเวลา
• หลีกเลี่ยงอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง แดดจ้า หรืออากาศร้อนอบอ้าว
• หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ และเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
• ลดและหลีกเลี่ยงการทานอาหารเค็ม ไม่เกินวันละ 2 กรัม (1 ช้อนชา)

ถึงแม้โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่… อาการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช

More articles

Latest article